ฝากเงินผ่านตู้อัตโนมัติ CDM หลังจากนี้จะต้องยืนยันตัวตน ทำยังไงบ้าง มีเงื่อนไขอะไร หลังมีการใช้ช่องทางฉกฉวยฟอกเงินจนคดีอาชญากรรมหลุดไปหลายคดี
ยุคสมัยนี้ การทำธุรกรรมทางการเงิน ง่ายกว่าเดิมมาก นอกจากโอนเงินผ่านแอปฯ แล้ว ยังมีการฝากเงินเข้าบัญชีที่ตู้อัตโนมัติ (CDM) ได้ โดยไม่ต้องผ่านตัวพนักงาน อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งความง่ายก็ทำให้เกิดความผิดพลาดในการทำธุรกรรมได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องมีนโยบายออกมาเพื่อความรัดกุมมากขึ้น
นอกจากนี้ ปัญหาที่ไม่คาดคิดอีกเรื่องหนึ่งคือ การฝากเงินสดผ่านตู้อัตโนมัติ (CDM) สามารถเป็นช่องทางการฟอกเงินจากอาชญากรรมต่าง ๆ ส่งเงินไปยังผู้กระทำผิดโดยไม่สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงิน และไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษได้ จนก่อให้เกิดความเสียหายเชิงอาชญากรรมขึ้น
ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย
วันที่ 11 ตุลาคม 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้
ทำไมต้องยืนยันตัวตนเวลาฝากเงินผ่านตู้ CDM
- ป้องกันการใช้เป็นช่องทางการฟอกเงิน จากการก่ออาชญากรรมยาเสพติดและการพนัน รวมถึงการทำธุรกรรมหลอกลวงทางการเงิน
- ให้การทำธุรกรรมเงินสดมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทั้งจากต้นทางและปลายทาง
- เพิ่มความมั่นใจและความปลอดภัยในการทำธุรกรรมแก่ประชาชน
ธุรกรรมประเภทใด ที่ต้องยืนยันตัวตนเมื่อฝากเงินผ่านตู้ CDM
- ฝากเงินเข้าบัญชีทั้งธนาคารเดียวกันและต่างธนาคาร
- จ่ายบิลด้วยเงินสด (Bill Payment)
วิธียืนยันตัวตนเมื่อฝากเงินที่ตู้อัตโนมัติ CDM
1. หากผู้ฝากเงินไม่มีบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรเอทีเอ็มที่ออกให้โดยธนาคาร ให้ผู้ฝากเงินสามารถระบุหมายเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์มือถือ จากนั้นจะมีการส่ง OTP ไปให้ตามเบอร์และกรอกที่หน้าตู้ ผู้ฝากจะฝากเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อครั้ง
2. หากผู้ฝากเงินใช้บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต ให้สอดบัตรเมื่อต้องการฝากเงิน และกดรหัสส่วนตัว (Pin) ผู้ฝากจะฝากเงินได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อครั้ง
ในการแสดงตัวตนนั้น ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
เริ่มใช้วันไหน
- 11 พฤศจิกายน 2566
โดยในระยะต่อไป ปปง. ธปท. และสมาคมธนาคารไทย จะประเมินผลการดำเนินการ
เพื่อพัฒนาทางเลือกอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย
Comentarios