รู้จัก รอยเลื่อนสะกาย สาเหตุเกิดแผ่นดินไหวเมียนมา สะเทือนถึงกรุงเทพฯ เมื่อ 95 ปีก่อน คร่าคนตายไปร่วม 500 คน เผย อาฟเตอร์ช็อกหลังจากนี้ต้องแรงขนาดเท่าไรถึงรู้สึกได้อีก

เหตุผลสำคัญที่ทำให้แผ่นดินไหวเมียนมา ขนาด 8.2 ที่ส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงกรุงเทพฯ จนสร้างความตื่นตระหนกอย่างมาก นั่นคือ เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย ทำให้หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่า รอยเลื่อนสะกายคืออะไร มีผลสำคัญยังไงกับแผ่นดินไหวบ้าง
วันที่ 28 มีนาคม 2568 ไทยพีบีเอส รายงานว่า รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า รอยเลื่อนสะกาย เป็นรอยเลื่อนใหญ่ของเมียนมาที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงหลายครั้ง เกือบจะทุก 10-20 ปี
ถ้าดูตามแผนที่ จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ระนาบเดียวกับ จ.เชียงราย และแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ก็รุนแรงมาก สามารถรับรู้ได้ตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคกลาง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในตึกสูงจะรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้มากขึ้น
ส่วนอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้น ถ้าหากเกิดในขนาด 6.5-6.6 จะเป็นขนาดที่รุนแรงพอและอาจจะทำให้ภาคเหนือและกรุงเทพฯ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นไหว
รอยเลื่อนสะกาย เคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ คนตาย 500 คน
รศ.ภาสกร ปนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า รอยเลื่อนสะกายปลดปล่อยพลังงานในรอบหลาย 10 ปีของเมียนมา คาดว่าเกิดความเสียหายจำนวนมาก ปกติถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง สามารถเกิดอาฟเตอร์ช็อกได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ครั้ง
สำหรับรอยเลื่อนสะกาย เคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2473 มีผู้เสียชีวิตในเมียนมามากกว่า 500 คน
รอยเลื่อนที่ใหญ่สุดในอาเซียน
ขณะเดียวกัน ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนสะกายทั้งหมด 668 ครั้ง แต่ใหญ่ที่สุดขนาด 7.0 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2534
ทั้งนี้ รอยเลื่อนสะกาย เป็นรอยเลื่อนที่มีพลังที่สุดในโซนอาเซียน มีความยาว 1,500 กิโลเมตร เริ่มจากเทือกเขาหิมาลัย พาดผ่านตอนกลางของเมียนมา มายังกรุงย่างกุ้ง ลงอ่าวเบงกอล และทะเลอันดามัน
ขอบคุณข้อมูลจากไทยพีบีเอส
댓글